เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย โดยฝ่ายอบรมกรรมฐาน จัดพิธีเปิดสอบธรรมศึกษา สนามหลวง แก่นักเรียน นักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไป ผู้ขอสมัครเข้าสอบความรู้ธรรมศึกษาชั้นตรี ธรรมศึกษาชั้นโทและธรรมศึกษาชั้นเอก ประจำปี ๒๕๖๒ ณ สนามสอบ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย โดยใช้พื้นที่ภายในอาคารสุชีพ ปุญญานุภาพ เป็นสถานที่จัดการสอบ ซึ่งในปีนี้มีผู้เข้าสอบธรรมศึกษาทั้งสิ้นจำนวน ๔๖๐ คน สมัครเข้าสอบธรรมศึกษาชั้นตรี จำนวน ๓๔๒ คน ธรรมศึกษาชั้นโท จำนวน ๕๓ คน และธรรมศึกษาชั้นเอก จำนวน ๖๕ คน
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีนโยบายผลิตบัณฑิตให้มีทั้งความรู้ในด้านวิชาการและมีความประพฤติที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมจริยธรรม สมดังศาสนสุภาษิตของมหาวิทยาลัยที่ว่า “วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส เสฏโฐ เทวมานุเส ผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้และความประพฤติ เป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่เทพและมนุษย์” ดังนั้นจึงได้จัดการสอบธรรมศึกษา สนามหลวง ประจำปี ๒๕๖๒ เพื่อตอบสนองนโยบายข้างต้น โดยคาดหวังว่าเมื่อ บุคลากร นักศึกษา นักเรียน ได้ผ่านการสอบธรรมศึกษา แล้วได้นำหลักธรรมที่ได้เรียนรู้นั้นไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและสังคมต่อไป
พระมงคลธรรมวิธาน, ผศ.ดร. รองอธิการบดีที่ดูแลด้านกิจการคณะสงฆ์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
เป็นประธานในพิธีปฐมนิเทศอบรมก่อนสอบธรรมศึกษา ประจำปี ๒๕๖๒
ประวัติธรรมศึกษา
การศึกษานักธรรม เป็นที่นิยมและเป็นที่ยกย่องทั้งในวงการคณะสงฆ์และในทางราชการ ผู้ที่สอบได้ประโยคนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก เมื่อลาสิกขาออกไป ก็สามารถรับราชการเป็นครูสอนตามโรงเรียนต่างๆ เมื่อมีการสอบเลื่อนวิทยฐานะครู ผู้สอบได้ประโยคนักธรรมก็ได้รับสิทธิพิเศษ โดยได้รับการยกเว้นโดยไม่ต้องสอบ ๑ ชุดวิชา เพราะประโยคนักธรรมชั้นตรีจัดเป็นชุดวิชาหนึ่งสำหรับการเลื่อนวิทยฐานะ
ต่อมาคณะสงฆ์ในสมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ พิจารณาเห็นว่า การศึกษานักธรรมก็เป็นประโยชน์แม้แก่ผู้ที่มิใช่ภิกษุสามเณร โดยเฉพาะในหมู่ข้าราชการครู ดังนั้น คณะสงฆ์จึงอนุญาตให้ครูทั้งหญิงและชายเข้าสอบประดยคนักธรรมชั้นตรีในสนามหลวงได้ โดยได้ตั้งหลักสูตรประโยคนักธรรมสำหรับฆราวาส เรียกว่า “ธรรมศึกษาตรี” ซึ่งประกอบด้วยวิชาที่ต้องสอบเช่นเดียวกันกับหลักสูตรนักธรรมชั้นตรีสำหรับภิกษุสามเณร ยกเว้นวิชาวินัยบัญญัติ ใช้เบญจศีล เบญจธรรม และอุโบสถศีลแทน
ธรรมศึกษาตรี
เปิดสอบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ปรากฏว่ามีฆราวาสทั้งชายและหญิงสมัครสอบกันเป็นจำนวนมาก
ธรรมศึกษาโท
เมื่อเห็นว่าฆราวาสสนใจศึกษาและสมัครสอบธรรมศึกษาตรีกันเป็นจำนวนมาก ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ คณะสงฆ์จึงได้จัดตั้งหลักสูตรธรรมศึกษาโทขึ้น เพื่อเป็นการขยายการศึกษานักธรรมสำหรับฆราวาสให้กว้างขวางและแพร่หลายยิ่งขึ้น อันเป็นการส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาทางหนึ่ง หลักสูตรธรรมศึกษาโทประกอบด้วยวิชาที่ต้องสอบ ๓ วิชา คือธรรมวิภาค อนุพุทธประวัติ และเรียงความแก้กระทู้ธรรม เช่นเดียวกับหลักสูตรนักธรรมชั้นโทสำหรับภิกษุสามเณร ยกเว้นวินัยบัญญัติธรรมศึกษาโทสอบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓
ธรรมศึกษาเอก
พ.ศ. ๒๔๗๘ คณะสงฆ์ได้ตั้งหลักสูตรธรรมศึกษาเอกและอนุญาตให้ฆราวาสสอบได้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นต้นไป (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๒๓ อ้างใน รายงานเรื่องศึกษาของคณะสงฆ์ไทย. (เอกสารโรเนียวเย็บเล่ม). ฝ่ายวิจัย กองแผนงาน กรมศาสนา, พ.ศ. ๒๕๑๖. หน้า ๒๓.) หลักสูตรนักธรรมชั้นเอกก็ประกอบด้วยวิชาที่ต้องสอบ ๓ วิชา คือ ธรรมวิภาค พุทธานุพุทธประวัติ และเรียงความแก้กระทู้ธรรม เช่นเดียวกับหลักสูตรนักธรรมชั้นเอกสำหรับภิกษุสามเณร ยกเว้นวินัยบัญญัติ
การศึกษานักธรรม อันเป็นการศึกษาพระพุทธศาสนา หรือธรรมวินัยในภาษาไทย ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระดำริตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ นั้น ได้พัฒนามาโดยลำดับ ทั้งในด้สนหลักสูตร การเรียนและการสอน เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ในธรรมวินัย ตลอดถึงความเป็นมาของพระพุทธศาสนาอย่างทั่วถึง พอแก่การที่จะเป็นศาสนทายาทที่มีคุณภาพ สามารถดำรงพระศาสนาไว้ได้ด้วยดี การศึกษานักธรรมได้เป็นที่นิยมนับถือของคณะสงฆ์และได้รับการจัดให้เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานของภิกษุสามเณรในประเทศไทยควบคู่ไปกับการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีนับแต่เริ่มต้นมาจนบัดนี้ การศึกษานักธรรมที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯได้ทรงตั้งขึ้นนี้ จึงนับว่ามีคุณประโยชน์ต่อการพระศาสนาในประเทศไทยเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ การศึกษานักธรรมยังได้แผ่ประโยชน์ไปยังพุทธบริษัทฝ่ายฆราวาสด้วย ดังที่ฆราวาสจำนวนมากก็สนใจศึกษาและสอบธรรมศึกษากันเป็นจำนวนมากตลอดมาดังที่กล่าวแล้ว การที่พุทธบริษัทฝ่ายฆราวาสได้มีโอกาสเรียนรู้ธรรมวินัย นับว่ามีประโยชน์ต่อการที่จะช่วยส่งเสริมและดำรงรักษาพระศาสนาให้เจริญมั่นคงได้ทางหนึ่ง
(ขอบคุณข้อมูลประวัติการสอบธรรมศึกษาจาก สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง)