พระเทพวัชรเมธี, ผศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์และเจ้าหน้าที่ ร่วมกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติครั้งที่ ๑๘ เรื่อง “พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤตโลก” (Buddhist Wisdom Coping with Global Crises) เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี ๒๕๖๖ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ
การนี้ ผู้นำชาวพุทธนานาชาติ และบุคคลสำคัญกล่าวสุนทรพจน์และสาส์น มีเลขาธิการสหประชาชาติ ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ และนายกรัฐมนตรี ประเทศไทย เป็นอาทิ
โอกาสนี้ พระเทพวัชรเมธี, ผศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย กล่าวสุนทรพจน์
ความว่า
“เนื่องในโอกาสวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ที่เราจะได้ประชุมกันเพื่อน้อมรำลึกถึงการประสูติ การตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และการเสด็จดับขันธปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นโอกาสที่จะได้พิจารณาหลักคำสอนและพระปัญญาคุณอันลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่โลกเผชิญกับวิกฤตการณ์นานาอยู่ทั่วไป
การจัดวันวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ ๑๘ ภายใต้แนวคิด “พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤตโลก” จึงสะท้อนความจริงว่า แม้จะมีปัญหา วิกฤตการณ์ และความขัดแย้งเกิดขึ้น
ในยุคสมัยนี้ ซึ่งเปรียบเสมือนช่วงเวลาที่มีความมืดปกคลุม หากยังคงมีหนทางสู่แสงสว่าง
อันได้แก่ พุทธปัญญาซึ่งฉายชี้ทางสว่างสู่การฟื้นคืนสติในโลกแห่งวิกฤตการณ์ พุทธปัญญา
ย่อมชี้นำชีวิตวิถีพุทธที่เน้นการพึ่งพาอาศัยกันของสรรพสัตว์ ความเห็นอกเห็นใจ และการเจริญสติ ให้เราตื่นรู้ในสถานการณ์ที่สับสนอลหม่านเหล่านี้
ในการจัดกิจกรรมของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้มีการสัมมนาในหัวข้อ “ศาสตร์แห่งความสุข : พุทธปัญญากับชีวิตวิถีพุทธในโลกสมัยใหม่” ซึ่งสะท้อนสภาวะมีมืด
ก็มีสว่าง มีทุกข์ก็ย่อมมีความสุขระคนกันไป เป็นการค้นหามุมมองเกี่ยวกับความสุขในโลกยุคปัจจุบันว่าควรเป็นอย่างไร และทำอย่างไรจึงจะมีความสุข และมีสุขด้วยสันติภาวะในตน เพราะจะทำให้มีความสุขในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นและสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะสำเร็จได้ด้วยความสุขที่ไม่ต้องพึ่งพาอาศัยสิ่งอื่น การค้นหาวิธีสร้างความสงบและความสุขภายในใจอย่างแท้จริง เป็นวิธีแห่งพุทธะ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ภายนอก แต่เป็นสภาวะภายในของจิตใจ เราสามารถอยู่กับปัจจุบันและเจริญสติ เข้าใจธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ทั้งหมด เมื่อประพฤติได้เช่นนี้ ก็จะสามารถก่อให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับพุทธปัญญาของคนในสังคม บ่มเพาะ
และปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมท่ามกลางการเกิดขึ้นของวิกฤตทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โอกาสนี้ ขอเชิญชวนทุกท่านน้อมรำลึกว่าคุณค่าแห่งพุทธปัญญาหาใช่วัตถุธรรมที่ตกทอดมาจากสมัยโบราณ หากแต่เป็นมรดกทางปัญญาที่เหนือกาลเวลาสำหรับปัจจุบันกาลและอนาคตกาล เพื่อนำภูมิปัญญานี้ไปปรับใช้ในชีวิตและชุมชนของเรา ให้ประสบสันติสุขในโลกอย่างยั่งยืน
จิรํ ติฏฺฐตุ โลกสฺมึ สมฺมาสมฺพุทฺธสาสนํ
ขอพระศาสนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจงดำรงอยู่ในโลกสิ้นกาลนาน”