สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นประธานในงานวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ปีที่ ๑๓๑ และพิธีทอดผ้าป่าเพื่อนำปัจจัยโดยเสด็จพระกุศลสมทบทุนการศึกษาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (วาสนมหาเถร) ในพระสังฆราชูปถัมภ์

วันอังคารที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๗

เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปอาคารธรรมสถาน มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ทรงเป็นประธานในงานวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นปีที่ ๑๓๑ โดยมี พระธรรมวชิรจินดาภรณ์, รศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย กราบทูลถวายรายงาน และพิธีทอดผ้าป่าเพื่อนำปัจจัยโดยเสด็จพระกุศลสมทบทุนการศึกษาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (วาสนมหาเถร) ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ซึ่งเจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ทรงตั้งไว้ในมหาวิทยาลัย สำหรับประทานแก่พระภิกษุสามเณรนักศึกษา

จากนั้น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ยังได้โปรดประทานรางวัล”คุณสมฺปนฺโน” จำนวน ๑๕ รูป/คน แก่ผู้มีอุปการคุณต่อมหาวิทยาลัย รางวัล “วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน” จำนวน ๑๐ รูป/คน แก่บุคลากรดีเด่น ทุนการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร และของที่ระลึกแก่ผู้ร่วมโดยเสด็จพระกุศล ณ อาคารธรรมสถาน มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

โอกาสนี้ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระสัมโมทนียกถา ความตอนหนึ่งว่า

“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนามหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้นเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมชนกนาถ โดยมีเจ้าพระคุณ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นปฐมบูรพาจารย์ด้วยทุก ๆ พระองค์ ล้วนทรงมุ่งหมายให้พระพุทธศาสนา สถาพรอยู่คู่โลกนี้และเป็นหลักชัยของบ้านเมืองไทยอยู่ตราบกาลนาน

การที่พระพุทธศาสนาจะดำรงคงมั่นจำเป็นต้องสร้างสรรค์พุทธบริษัทให้รู้ลึกและรู้รอบในวิชชาตามกระบวนการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมที่ถูกต้องหากการศึกษาพระปริยัติธรรมอ่อนแอผิดพลาดคลาดเคลื่อน หรือรวนเรไปตามอัตโนมติแล้วย่อมปฏิบัติผิด และสอนผิดทำให้ไม่อาจเข้าถึงปฏิบัติธรรม และปฏิเวธธรรมได้

ปริยัติธรรม อันควรศึกษาโดยรอบย่อมหมายถึง พระพุทธพจน์ หรือพระไตรปิฎกรวมทั้งอรรถกถาฎีกา อนุฎีกาและคำอธิบายต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจในหลักคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย การศึกษาปริยัติธรรมอาจจำแนกได้เป็น ๓ ระดับ กล่าวคือ

๑. อลคัททูปริยัติ การศึกษาแบบจับงูพิษที่หางคือ ศึกษาเพื่อลาภสักการะ เพื่อคำสรรเสริญหรือเพื่อยกตนข่มผู้อื่นย่อมเป็นโทษ เหมือนการจับงูพิษที่หางงูย่อมแว้งขบกัดเอาได้

๒. นิสสรณัตถปริยัติ การศึกษาเพื่อประโยชน์แก่การออกไปจากทุกข์ คือ เพื่ออบรมปัญญาเป็นการศึกษาของผู้ที่เห็นโทษภัยในวัฏสงสาร

และ ๓. ภัณฑาคาริกปริยัติ การศึกษาแบบขุนคลัง คือเพื่อทรงพระศาสนาไว้ไม่ให้เสื่อมสูญเป็นการศึกษาของผู้จบกิจในการอบรมปัญญา เพื่อละกิเลสแล้วแต่ยังมีฉันทะในการศึกษา เพื่อถ่ายทอดพระธรรมคำสอนให้แก่ชนรุ่นหลัง

ณ โอกาสอันเป็นมงคลนี้ จึงขอเตือนใจให้ทุกท่านอย่าได้คิดศึกษาแบบ อลคัททูปริยัติ แต่ขอเป็นกำลังใจสนับสนุนให้ท่านจงเป็นผู้องอาจ และเข้มแข็งในอันที่จะศึกษาพระปริยัติธรรม เพื่อความออกจากทุกข์ และเพื่อรักษาพระสัทธรรม ไว้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สมตามเจตนารมณ์ของบูรพาจารย์ขออย่าให้อคติทั้ง ๔ เข้ามาบดบัง และบิดเบือน จนกลายเป็นมิจฉาทิฐิไปได้เป็นอันขาด

อาตมภาพขออนุโมทนากุศลจริยาที่ทุกท่านช่วยกันสนับสนุนกิจการของมหาวิทยาลัย และขอแสดงมุทิตาจิตต่อผู้ได้รับตำแหน่งทุน และรางวัลต่าง ๆ กับทั้งขออำนวยพรให้ทุกท่าน จงเจริญรุ่งเรืองในพระบวรพุทธศาสนา ยิ่ง ๆ ขึ้นสืบไปเทอญ

อนึ่ง ในช่วงเช้า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีพระบัญชาโปรดให้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อคฺคชินเถร) อุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นผู้แทนพระองค์มาในพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานอุทิศถวายบูรพาจารย์ และพิธีเจริญพระพุทธมนต์ในโอกาสวันสถาปนามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ปีที่ ๑๓๑ ณ อาคารธรรมสถาน มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

3,913 จำนวนผู้เข้าชม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ ประกาศ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า
Scroll to Top