วันเสาร์ ที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๕ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานในงานวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ปีที่ ๑๒๙ และพิธีทอดผ้าป่าเพื่อนำปัจจัยโดยเสด็จพระกุศลสมทบทุนการศึกษาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (วาสนมหาเถร) ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ซึ่งเจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ทรงตั้งไว้ในมหาวิทยาลัย สำหรับประทานแก่พระภิกษุสามเณรนักศึกษา จากนั้น โปรดประทานรางวัลคุณสัมปันโนแก่ผู้มีอุปการคุณต่อมหาวิทยาลัย รางวัลวิชชาจรณสัมปันโนแก่บุคลากรดีเด่น ทุนการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณร และของที่ระลึกแก่ผู้ร่วมโดยเสด็จพระกุศล ณ อาคารธรรมสถาน มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
อนึ่ง เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช โปรดประทานหนังสือ “คืนธรรมชาติสู่ธรรม” และ “กระบวนทัศน์พระพุทธศาสนาในโลกดิจิทัล” ซึ่งพระเทพวัชรเมธี อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และคณะ เรียบเรียงขึ้น พร้อมจัดพิมพ์ถวายเนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๙๕ พรรษา ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๕ แก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อเชิญไปมอบแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ สำหรับนำไปศึกษาเรียนรู้และประยุกต์สู่การปฏิบัติ
โอกาสนี้ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระสัมโมทนียกถา ความตอนหนึ่งว่า
“การบำเพ็ญกุศลโดยประการต่างๆ นั้น นอกจากจะเพื่อสนองพระเดชพระคุณ สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า พร้อมด้วยบูรพาจารย์ และผู้มีอุปการคุณต่อมหาวิทยาลัยแล้ว ยังเป็นไปเพื่อเกื้อกูลการศึกษาของชาติและพระศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทอดผ้าป่าสมทบทุนการศึกษาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (วาสนมหาเถร) ซึ่งอาตมภาพได้ร่วมกับท่านทั้งหลาย ตั้งขึ้นไว้ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ นับเป็นกิจกรรมสำคัญ เพราะพระพุทธศาสนาก็ดี ชาติบ้านเมืองก็ดี จะดำรงมั่นคงอยู่ได้ คนรุ่นปัจจุบันมีหน้าที่ที่จะต้องสร้าง ‘ทายาท’ ที่มีคุณภาพ ให้สมควรแก่บทบาทหน้าที่ ในการรับมรดกทางสติปัญญาและประสบการณ์จากคนรุ่นก่อน รวมทั้งคนรุ่นปัจจุบันเช่นเราทั้งหลาย ซึ่งล้วนแต่จะกลายเป็นคนรุ่นก่อนไปตามธรรมดาของโลก
ถ้าลองมองย้อนกลับมาพิจารณาตัวเองที่นั่งอยู่ตรงนี้ ณ ขณะนี้ ก็จะพบว่า เราทุกคน ต่างเป็นผลผลิตของบุพการีและบูรพาจารย์ ผู้มีพระคุณมหาศาลนับประมาณมิได้ทั้งสิ้น ถ้ามิใช่เพราะท่านเหล่านั้นในอดีต มีวิสัยทัศน์ พากเพียรปลูกฝังสั่งสมทุนรอนในด้านต่างๆ ไว้ให้พวกเรา เราก็ย่อมไม่มีวันนี้ที่ยืนหยัดอยู่ได้อย่างสง่าผ่าเผย
เพราะฉะนั้น จึงขอให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้ พร้อมทั้งสาธุชนทุกท่าน ช่วยกันวางแผนสร้างบุคลากร ทั้งในเชิงปริมาณ และในเชิงคุณภาพ อย่างรอบคอบและต่อเนื่อง เพื่อความยั่งยืนของอุดมการณ์ ให้สมค่าแห่งความเป็นพระบรมราชานุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เป็นการสืบสานพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับทั้งพระประสงค์และความประสงค์ ของบูรพาจารย์ทุกๆ พระองค์ และทุกๆ ท่าน ให้ดำเนินต่อเนื่องไปโดยไม่ขาดสาย
อนึ่ง ขออนุโมทนาชื่นชมเป็นพิเศษกับหนังสือ ‘คืนธรรมชาติสู่ธรรม’ และ ‘กระบวนทัศน์พระพุทธศาสนาในโลกดิจิทัล’ ซึ่งท่านเจ้าคุณอธิการบดีและคณะทำงานได้ช่วยกันจัดทำขึ้น เพื่อเป็นแสงสว่างทางปัญญาให้แก่สังคม ด้วยการนำแนวคิดทางพระพุทธศาสนา มาพิเคราะห์เข้ากับกระบวนทัศน์และประเด็นร่วมสมัยของโลกปัจจุบัน อาตมภาพหวังใจว่า ทุกท่านจะนำไปศึกษาอย่างจริงจัง สำหรับการพัฒนาและต่อยอด เพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยและสังคมโลก ให้ร่มเย็นเป็นสุข ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธธรรมสืบไป”
ทั้งนี้ในช่วงเช้า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โปรดมีพระบัญชาให้ เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อุปนายกสภามหาวิทยาลัย เป็นผู้แทนพระองค์ ในพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานอุทิศถวายบูรพาจารย์ และพิธีเจริญพระพุทธมนต์ในโอกาสวันสถาปนามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ปีที่ ๑๒๙ พร้อมประทานคำสั่งสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านกิจการต่างประเทศ แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ และประทานทุนการศึกษาแก่นักศึกษา
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยนับแต่ทรงสถาปนาได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณและรับประทานพระกรุณาคุณอย่างต่อเนื่องนับเป็นกิตติประวัติและมีวิวัฒนาการตามลำดับจำแนกได้ ๓ ยุค พอสังเขป ดังนี้
- ยุคที่ ๑ ยุคที่เป็นวิทยาลัย ระหว่าง พ.ศ.๒๔๓๖ ถึง ๒๔๘๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งวัตถุประสงค์ของการสถาปนาไว้ความตอนหนึ่งว่า “เพื่อเป็นที่เล่าเรียนศึกษา พระปริยัติธรรมของภิกษุสามเณร” โดยในยุคนี้อยู่ใต้พระบารมีของเจ้าพระคุณ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นพระน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้น ทรงเอาพระทัยใส่เรื่องน้อยใหญ่เพื่อวางรากฐานการศึกษาคณะสงฆ์ให้เป็นไปในรูปแบบสมัยใหม่ กล่าวคือ แตกต่างจากการเล่าเรียนภาษาบาลีตามประเพณีแบบเดิม พร้อมกับโปรดประทานพระอนุญาตให้ใช้พื้นที่วัดบวรนิเวศวิหารเป็นที่ตั้งของสถาบันดังกล่าว
- ยุคที่ ๒ ยุคที่เป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา ระหว่าง พ.ศ.๒๔๘๙ ถึง ๒๕๔๐ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา เรียกว่า “สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย” โดยมีพระศรีวิสุทธิญาณ (สุชีโว ภิกขุ) หรืออาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ เป็นเลขาธิการคนแรก นับว่ามีบทบาทสำคัญในการผลักดันสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยให้ก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน เป็นเหตุให้มีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบมหาวิทยาลัยขึ้น เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๙ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
๑. เพื่อเป็นสถานศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณร
๒. เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาวิทยาการ อันเป็นของชาติภูมิและของต่างประเทศ และ
๓. เพื่อเป็นสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา
- ยุคที่ ๓ ยุคที่เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ระหว่าง พ.ศ.๒๕๔๐ ถึง ปัจจุบัน ได้มีการตรา “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ.๒๕๔๐”ขึ้น ให้มหาวิทยาลัยมีฐานะนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ ให้การศึกษา วิจัย ส่งเสริมและให้บริการวิชาการทางพระพุทธศาสนาแก่พระภิกษุ สามเณร และคฤหัสถ์ รวมทั้งทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ดำเนินการพัฒนางานด้านต่าง ๆ ตามแผนกลยุทธ์และพันธกิจอย่างเต็มความสามารถ เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นเลิศตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า “ความเป็นเลิศทางวิชาการตามแนวพระพุทธศาสนา” จนสามารถผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ให้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาและประเทศชาติตั้งแต่อดีตตราบจนปัจจุบัน