เมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๓.๐๐ น. – เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย กรรมการมหาเถรสมาคม เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เมตตามาเป็นประธานและกล่าวสัมโมทนียกถา ในพิธีเปิดงานวันอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ประจำปี ๒๕๖๖ ภายใต้หัวข้อการจัดงาน “กระบวนการทัศน์พระพุทธศาสนาในโลกดิจิทัล” ซึ่งเป็นชื่อเดียวกันกับหนังสือที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้จัดพิมพ์ขึ้นถวายปฏิการะสนองพระเดชพระคุณของเจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช เพื่อให้มีความเหมาะสมกับโลกยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยมี พระเทพวัชรเมธี, ผศ.ดร. อธิการบดี กล่าวถวายรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน ณ ห้องประชุม อาคารสุชีพ ปุญญานุภาพ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม โดยมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษาจากทั้งส่วนกลาง วิทยาเขตวิทยาลัยเข้าร่วมงานทั้งในห้องประชุม และผ่านระบบประชุมออนไลน์โดยพร้อมเพรียง
เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ประธานในพิธี ได้กล่าวสัมโมทนียกถามอบเป็นนโยบายให้มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยปรับกระบวนการทัศน์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโลกดิจิทัลให้สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐ คือการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการดังกล่าว เพราะขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมส่วนใหญ่ของชาติมีล้วนมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนานั่นเอง ดังความตอนหนึ่งว่า
“ตามที่รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่งเมื่อคราวประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ผ่านมาที่ท่านทั้งหลายพอทราบกันแล้ว เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ (คณะกรรมการยุทธศาสตร์ว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และมีคณะผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มาร่วมเป็นกรรมการ คำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” เป็นเรื่องสำคัญที่ครอบคลุมหลายแขนงทั้งศาสตร์และศิลป์ทั้งความเชื่อ ค่านิยม ศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ สามารถทำได้หลายรูปแบบ
ยกตัวอย่างยังสมัยก่อนเราไม่เคยไปประเทศเกาหลีมาก่อน แต่พอมีภาพยนตร์และสื่อบันเทิงต่าง ๆ แสดงด้านวัฒนธรรม อาหาร จัดเข้าในข่ายของซอฟต์พาวเวอร์ ขยายผลจากส่วนเล็ก ๆ ที่มีอยู่มาเชิดชูเผยแพร่ทำให้คนไทยเดินทางไปเกาหลีกันมากขึ้น ทำรายได้เข้าประเทศได้เช่นนี้ เป็นต้น
เมื่อกล่าวถึงเรื่องนี้ เมืองไทยเราเหตุใดจะทำอย่างนี้บ้างไม่ได้ วัฒนธรรมประเพณีของเรามีจุดเด่นทุกภาค ทุกท้องถิ่น ล้วนมีความรักใคร่หวงแหนในขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของเราอย่างมั่นคง ตราบใดที่เราอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของเราได้มั่นคง เชื่อมั่นว่าหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะคงอยู่ เพราะมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่อง และเกิดจากการปฏิบัติตามหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เราจะทำอย่างไรให้วิธีการนี้เป็นกระบวนทัศน์ร่วมสมัยที่เราจะปรึกษาหารือกันให้มากในปัจจุบัน ให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนและปฏิบัติได้ จะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ เป็นกำลังขับเคลื่อนและรักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา และแนวปฏิบัติตามคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ยืนยาวและเจริญมั่นคงต่อไป
ถือได้ว่าเป็นเป็นมิติหนึ่งที่เราในฐานะพุทธสาวกโดยเฉพาะพระภิกษุควรจะต้องระลึกอยู่ตลอดเวลาว่าเรามีหน้าที่ในการที่จะเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าตลอดจนทำประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติด้วย”
และนอกจากนั้นภายในงานครั้งได้ทางมหาวิทยาลัยยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิร่วมปาฐกถาพิเศษ คือ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ปาฐกถาในหัวข้อ “การขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลในภาคการศึกษา” นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ มมร กับการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคน ในกลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา” และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ นายกสภาสถาบันกันตนา ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “พุทธศาสนนิทรรศน์”
ในช่วงท้ายของงานได้จัดให้มีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทางวิชาการและการพัฒนานวัตกรรมสื่อสร้างสรรค์เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่สังคม ระหว่าง มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (MBU) กับ สถาบันกันตนา (KI) โดยมี พระเทพวัชรเมธี, ผศ.ดร. อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พร้อมด้วย ผศ.ปนัดดา ธนสถิตย์ อธิการบดีสถาบันกันตนา ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ในครั้งนี้
ทั้งนี้ภายในงานดังกล่าวยังได้มีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิชาการของคณาจารย์ นักศึกษา จากคณะและสาขาวิชาต่าง ๆ ในระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา ภายในบริเวณชั้น ๑ อาคารสุชีพ ปุญญานุภาพ อีกด้วย
ภาพ : กองเทคโนโลยีสารสนเทศ
ข่าว : ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย