บ่ายวันนี้ (๓๐ กันยายน ๒๕๖๖) พระเดชพระคุณ พระเทพวัชรเมธี, ผศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นประธานในพิธีเปิดงานพร้อมกล่าว สัมโมทนียกถาเปิดงาน เสวนาวิชาการเนื่องในโอกาส ๑๓๐ ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย มหามกุฏราชวิทยาลัย โดย พระศรีวชิรวาที, ผศ.ดร. รองอธิการบดีด้านวิชาการและพัฒนาคุณภาพ กล่าวถวายรายงาน จากนั้นมีการปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “พุทธศาสนากับภาวะผู้นำ” โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม
ในพิธิเปิดงานดังกล่าวพระเดชพระคุณ พระเทพวัชรเมธี, ผศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ประธานในพิธี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษมีใจความสำคัญคือ “เมื่อ ๑๓๐ ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนา มหามกุฏราชวิทยาลัย ขึ้นนเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในพระนาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ผู้ทรงพระอัจฉริยภาพและพระคุณูปการอเนกอนันต์ โดยเฉพาะในด้านการพระศาสนาของประเทศ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้วัฒนามาโดยลำดับ ตั้งแต่ครั้งเป็นมหามกุฏราชวิทยาลัย จนมีการจัดตั้งเป็นสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย และเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐดังเช่นปัจจุบัน
ในปัจจุบันถือได้ว่ามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา และมีรากฐานที่มั่นคงในการสืบทอดและเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่จะธำรงรักษาไว้สืบไป
ประวัติศาสตร์ ๑๓๐ ปีอันยาวนานนี้ที่ตกทอดมาถึงพวกเราทุกคน ก็ล้วนด้วยคุณูปการแห่งพระบูรพาจารย์ และความร่วมแรงร่วมใจของทุกองคาพยพ ทุกภาคส่วน เราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์นี้ ไม่มากก็น้อย และมีหน้าที่ที่จะทำนุบำรุงสถาบันแห่งนี้ให้มั่นคงสถาวรสืบไปในภายภาคหน้า”
ในการนี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม ปาฐกถาพิเศษ โดยนำเสนอเกี่ยวกับ ภาวะผู้นำบนฐานของหลักพละ ๕ ของนักปกครอง และเสริมอีก ๒ พละ คือ ๑.) พาหุพลัง มีรูปดี เสียงดี พูดดี กังวาลศิลป์ physical power ๒.) อภิชัจจะ พลังที่เกิดจากตระกูลดี Family Power ๓.) อมัจจะพลัง มีคนช่วยมาก Popular power ๔.) โภคพลัง มีทรัพย์สมบัติ Financial Power ๕.) ปัญญาพลัง พลังแห่งความรู้ Intellectual Power รวมถึงรู้จักใช้เทคโนโลยี และอีก ๒ พละ คือ ๖.) กาลพลัง มาถูกกาลเวลา และมีเวลา ทำงานมาก Time Power ๗.) ธรรมพลัง กำลังแห่งธรรม คือ ความถูกต้อง ซื่อสัตย์ Dhamma Power
ภายในงานดังกล่าว ได้มีกิจกรรมเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ ”๑๓๐ ปี มมร : อดีต ปัจจุบัน อนาคต บนคุณค่าแห่งพุทธปัญญาพัฒนาสังคม“ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย พระธรรมกิตติเมธี, ดร. ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย รองศาสตราจารย์สุเชาวน์ พลอยชุม อาจารย์พิเศษบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย พระศรีวชิรวาที, ผศ.ดร. รองอธิการบดี
การเสวนาวิชาการในครั้งนี้ พระธรรมกิตติเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาสวิหาร อดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในการเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และได้ฝากให้มหาวิทยาลัยได้มุ่งเน้นด้านการวิจัยที่บูรณาการหลักธรรมของพระพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกกับนวัตกรรมสมัยใหม่ในปัจจุบันและอนาคต
และรองศาสตราจารย์สุเชาวน์ พลอยชุม อาจารย์พิเศษบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้กล่าวที่มาของการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้ปรารภถึงบูรพาจารย์ที่สำคัญในการพัฒนามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ผู้วางรากฐานของมหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ และเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘ สุชีโวภิกขุ (อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ) ได้มีการทดลองนำแนวคิดการศึกษาสมัยใหม่ตามพระวิสัยทัศน์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระองค์นั้น ไปทำการเปิดสอน ณ วัดกันมาตุยาราม จากนั้น พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้นำเสนอแนวทางดังกล่าวแก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย และ ได้รับพระเมตตาจาก สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้โปรดประทานให้ตั้งสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยต่อมา โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ผลิตบุคลากรอันทรงคุณค่าให้สู่สังคมมาโดยตลอด โดยในปัจจุบันที่เห็นได้ชัดเจนคือเจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นนักศึกษา รุ่นที่ ๕ ของสภาการศึกษาของมหามกุฏราชวิทยาลัย
ท้ายที่สุดมีการสรุปการเสวนาวิชาการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิญ รักสัตย์ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านบริหารวิชาการ ณ ห้องประชุมชั้น ๓ อาคารสุชีพ ปุญญานุภาพ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
ข่าว : ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
ภาพ : มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย