“สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์สมเด็จพระสังฆราช ในพิธีประทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ประจำปี ๒๕๖๖ จำนวน ๑,๗๖๒ รูป/คน”

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ห้องประชุมอาคารอาคารสุชีพ ปุญญานุภาพ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

         เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มีพระบัญชาโปรดให้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ 
อุปนายกสภามหาวิทยาลัย
ปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ เป็นประธานในพิธีประทานปริญญาบัตร ประจำปี ๒๕๖๖ โดยมี พระเทพวัชรเมธี, ผศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยพร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ บัณฑิตใหม่และพุทธศาสนิกชนถวายการต้อนรับ

         สำหรับพิธีประทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ประจำปี ๒๕๖๖ นี้ ผู้แทนพระองค์เมตตาให้ผู้ที่ได้รับการเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน ๑๖ รูป/คน ปริญญาดุษฎีบัณฑิต จำนวน ๖๓ รูป/คน ปริญญามหาบัณฑิต จำนวน ๓๕๖ รูป/คน และปริญญาบัณฑิต จำนวน ๑,๓๔๓ รูป/คน รวมทั้งสิ้น ๑,๗๖๒ รูป/คน เข้ารับปริญญา

​         โอกาสนี้ เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เชิญพระโอวาทของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ความตอนหนึ่งว่า “ผู้สำเร็จการศึกษาทุกรูปทุกคน คงได้รับคำชื่นชมยินดีจากญาติมิตรทั่วหน้า ที่เรียกว่า “มุทิตา” หมายถึงความพลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้รับผลดี อันมีสาเหตุจากการกระทำดี ซึ่งเป็นภาวะที่สังคมไทยพึงเร่งสั่งสมอบรมให้เพิ่มพูนขึ้นทั่วไปเพราะมุทิตาจิตด้วยความจริงใจนั้น ย่อมเป็นความรู้สึกตรงกันข้ามกับความอิจฉาริษยา อันเป็นต้นเหตุของความวิวาทบาดหมาง แตกสามัคคี ซึ่งเป็นภัยใหญ่หลวงของสังคมทุกระดับ 

         ถ้าคนเราไม่ลุอำนาจของกิเลสที่เป็นความริษยา หากแต่พร้อมเพรียงกันยินดีในความสุขความเจริญของผู้ประสบความสุขความเจริญ ย่อมจะทำให้หมู่ชน ประเทศชาติ ตลอดจนถึงโลกนี้ มีความสุขความเจริญขึ้นพร้อม ๆ กัน โดยปราศจากการทำลายล้างอันยังความพินาศ ทุกประการ

​         เพราะฉะนั้น จึงขอให้ทุกท่านจงเป็นผู้ไม่มีความริษยา ในสุขประโยชน์ของใคร ๆ ถ้าเห็นใคร ๆ บรรลุสุขประโยชน์ ก็จงมีจิตใจชื่นชมยินดีในสุขประโยชน์ที่เขาได้รับ และจงเร่งประพฤติดีปฏิบัติชอบ เพื่อให้บรรลุถึงสุขประโยชน์ดังกล่าวบ้าง เมื่อใครเขาจะเป็นคนดีไปก่อนก็ให้เขาเป็นไป และจงมีใจยินดีด้วย ถ้าตนเองต้องการเป็นคนดีบ้างก็พึงปฏิบัติเพื่อความเป็นคนดี ให้เป็นคนดีด้วยกันทั่วหน้า โดยเสมอกันทุกภาคส่วนในสังคม”

         หลังเสร็จพิธีประทานปริญญาบัตรแล้ว เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ พร้อมคณะผู้บริหาร ได้ปลูกต้นทองกวาวเป็นอนุสรณ์และเพื่อเพิ่มร่มเงาในมหาวิทยาลัย

         ในส่วนของปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ประกอบด้วยผู้ทำคุณประโยชน์แก่พระศาสนา นักวิชาการ และ ผู้ทำคุณประโยชน์แก่สังคม จำนวน ๑๖ ราย ดังนี้ ๑. พระพรหมเวที (สุเทพ ผุสฺสธมฺโม) ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ ๒. พระพรหมวัชรเมธี (สมเกียรติ โกวิโท) ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาวิชาพุทธศาสตร์ ๓. พระพรหมวชิรสุนทร (เอื้อม ชุตินฺธโร) ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาวิชาพุทธศาสตร์ ๔. พระธรรมวัชรธรรมบัณฑิต (สมจินต์ สมฺมาปญฺโ) ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาวิชาพุทธศาสตร์ ๕. พระธรรมวชิรากร (สมปอง ปญฺญาทีโป) ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ ๖. พระธรรมวชิรเมธาจารย์ (ยุทธศักดิ์ กิตฺติยุตฺโต) ศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ ๗. พลตำรวจโท ผ่อน ปลัดรักษา ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ๘. รองศาสตราจารย์เย็นใจ สมวิเชียร ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารการศึกษา ๙. ดร.อาชว์ เตาลานนท์ ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา ๑๐. รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาปรัชญาศาสนาและวัฒนธรรม ๑๑. นายศิริธัช โรจนพฤกษ์ สังคมสงเคราะห์ศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ๑๒. ดร.ชัยยุทธ ปิลันธน์โอวาท ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา ๑๓. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาวิชาพุทธศาสนาและปรัชญา ๑๔. นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ๑๕. นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ สังคมสงเคราะห์ศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ๑๖. นางพัชราภรณ์ อินทรียงค์ รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ 

สำหรับมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นสถานศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสถาปนาขึ้น เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ตามพระดำริสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เพื่อเป็นสถานศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมชั้นสูงของพระภิกษุสามเณร ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๘ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ โปรดให้จัดการศึกษาในรูปมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาเรียกชื่อว่า “สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย” ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๔๐ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๐ มีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ

            มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย แบ่งส่วนงานจัดการศึกษาเป็น ๕ คณะ ได้แก่ คณะศาสนาและปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย ได้ขยายการศึกษาไปในส่วนภูมิภาคต่าง ๆ รวม ๗ วิทยาเขต ๓ วิทยาลัยและได้สนองงานของคณะสงฆ์ธรรมยุตในการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาในไพรัชประเทศ  มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ดำเนินการพัฒนางานด้านต่าง ๆ ตามแผนกลยุทธ์และพันธกิจอย่างเต็มความสามารถ เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นเลิศตามปรัชญาของมหาวิทยาลัย “ความเป็นเลิศทางวิชาการตามแนวพระพุทธศาสนา” สนับสนุนผู้สนใจศึกษาด้านพุทธศาสนาให้เข้าใจพระธรรมวินัยอย่างลึกซึ้ง มีองค์ความรู้ในการวิจัยและผลิตผลงานทางวิชาการให้ได้มาตรฐานสากลเพื่อยกระดับการเผยแผ่พุทธศาสนาสู่ระดับนานาชาติ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางด้านพุทธศาสนาอันเป็นที่ยอมรับ จนสามารถผลิตบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต ให้เป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนาและประเทศชาติ เพื่อเป็นการวางรากฐานตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน อย่างยั่งยืนสืบต่อไป

1,044 จำนวนผู้เข้าชม
Scroll to Top