วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๖ เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จเป็นประธานในพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ ๑๘ เรื่อง “พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤตโลก” เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี ๒๕๖๖ โดยมี สมเด็จพระสังฆราช ประมุขสงฆ์ ผู้นำชาวพุทธ และผู้ติดตาม รวมกว่า ๓,๕๐๐ รูป/คน จาก ๕๕ ประเทศทั่วโลก ร่วมพิธี ณ อาคารหอประชุม มวก. ๔๘ พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา
การนี้ พระเทพวัชรเมธี, ผศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ร่วมพิธี
โดยพระพรหมบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) อุปนายก มจร ในฐานะประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก กล่าวถวายรายงานว่า ตามที่องค์การสหประชาชาติได้รับรองวันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ ในปี ๒๕๔๒ นั้น จึงได้มีการจัดพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชามาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยปี ๒๕๖๖ คณะกรรมการสมาคมสภาสากลวิสาขบูชาโลก ได้มีฉันทามติร่วมกันให้ประเทศไทย โดย มจร ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลไทย และ มหาเถรสมาคม (มส.) เป็นเจ้าภาพจัดพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ ๑๘ เรื่อง “พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤตโลก” เนื่องในวันวิสาขบูชา ระหว่างวันที่ ๑ – ๒ มิ.ย. ๒๕๖๖ ณ มจร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา, ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ และพุทธมณฑล จ.นครปฐม
จากนั้น เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระคติธรรม เปิดการประชุมความว่า ในนามคณะสงฆ์ไทยขอต้อนรับด้วยความปรารถนาดีอย่างยิ่ง พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาอเทวนิยม มุ่งสั่งสอนว่าสิ่งทั้งหลายล้วนมีเหตุปัจจัยในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป หาใช่จากการดลบันดาลของอำนาจลี้ลับเหนือธรรมชาติ หากพิจารณาถึงอริยสัจสี่ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ และโปรดประทานให้แก่เราทั้งหลาย ผู้เป็นพุทธบริษัท ได้ศึกษาใคร่ครวญ และน้อมนำไปเป็นวิถีทางแห่งการรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ย่อมเห็นประจักษ์ได้ว่า ถ้าต้องการไม่ให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สรรพสัตว์ทั้งหลายคงมีทางเลือกสองทาง กล่าวคือ กำจัดเหตุ ๑ และกำจัดเงื่อนไข ๑ เมื่อทำได้ดังว่าแล้วทั้งสองประการ ผลที่ไม่พึงปรารถนาก็จะไม่บังเกิดอย่างแน่แท้ ความตระหนักรู้แจ้งในหลักการเหล่านี้ ย่อมทำให้สัตว์โลกตื่นรู้ พร้อมความระมัดระวังโดยรอบคอบมากยิ่งขึ้น มีนัยประมวลสรุปรวมหมายถึง “ความไม่ประมาท” ซึ่งเป็นที่สุดแห่งพระบรมพุทโธวาททั้งปวง การที่ท่านทั้งหลายมาประชุมกันเพื่อร่วมขบคิดใคร่ครวญในหัวข้อ “พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤตโลก” นับเป็นที่น่าอนุโมทนายิ่ง เพราะเสมอด้วยการทำให้พระพุทธศาสนา ปลูกฝังหยั่งรากลงลึกสู่จิตใจของมวลมนุษยชาติ ในฐานะศาสนาแห่งเหตุและผล ซึ่งสมบูรณ์พร้อมทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติ เป็นยอดศาสนาที่ช่วยเกื้อกูลให้โลกสามารถก้าวข้ามพันวิกฤตการณ์ ไปสู่ภาวะแห่งศานติสุขได้อย่างแท้จริง